วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตอนที่ 2 การเตรียมพร้อมและโค้ดตัวแรกกับบอร์ด KidBright

    ในตอนที่แล้วเราได้เกริ่นถึงบอร์ด  KidBright V.1.3 กันไปแล้วว่าประกอบด้วยอินพุตและเอาท์พุตอะไรบ้างที่เราสามารถใช้งานได้ มาคราวนี้มาดูกันว่าต้องเตรียมความพร้อมอะไรก่อนบอร์ดจึงจะทำงานได้ ผู้เขียนขอแบ่งการเตรียมพร้อมออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งฮาร์ดแวร์ และฝั่งซอฟแวร์

    ในฝั่งฮาร์ดแวร์นี้ก็ไม่มีอะไรยาก คือการต่อสายเพื่อจ่ายไฟให้บอร์ดด้วยสาย USB นั่นเอง บอร์ด KidBright จะมีขั้วต่อไฟเข้าบริเวณด้านบนขวา เป็นพอร์ตแบบ micro USB ลักษณะเหมือนสายชาร์จโทรศัพท์บางรุ่น ตัวบอร์ดรับไฟเข้าที่แรงดัน 5 โวลต์ จึงสามารถเสียบตรงเข้ากับพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ได้เลยโดยตรง สาย USB นี้ใช้เป็นทั้งสายไฟและสายส่งข้อมูลระหว่างบอร์ดกับคอมพิวเตอร์ในเส้นเดียวกัน ***ข้อควรระวังก่อนต่อสาย USB ให้วางบอร์ดไว้บนโต๊ะไม้เรียบ ๆ หรือพื้นที่ไม่มีสื่อนำไฟฟ้าถ้าต่อขาตั้งลอยขึ้นมาได้จะดีมากเพราะบอร์ด KidBright มีขั้วไฟฟ้าด้านหลังที่สามารถลัดวงจรภายในได้ หากไม่มีขาตั้งให้หาเทปโฟมกาวสองหน้าลอกกระดาษออกฝั่งเดียวมาติดไว้ด้านหลัง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นบอร์ด KidBright เมื่อเสียบสายแล้วจับได้ไฟไม่ดูดนะ***


    ในฝั่งของซอฟแวร์เราต้องมีโปรแกรมใช้ในการเขียนโค้ด ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องเรียนกันเป็นปี ๆ กว่าจะท่องไวยกรณ์และคำศัพท์ในภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้แต่ปัจจุบันมันง่ายมากเพราะมีการพัฒนาซอฟแวร์ IDE (integrated development environment) แบบบล็อกคำสั่ง (Blockly) มาให้ลากแปะตามลำดับได้ สำหรับบอร์ด KidBright เราสามารถใช้ KidBright IDE ของเนคเทคหรือ KBide จากทาง Maker Asia ก็ได้เช่นกัน แต่ในบทความชุดนี้ขอเน้นไปที่ KidBright IDE ก่อนน่าจะเหมาะกับมือใหม่อย่างเรา ๆ มากกว่าเนาะ

    เริ่มไปโหลดซอฟแวร์เลย ให้เข้าไปที่ https://www.kid-bright.org/ จะหน้าตาแบบนี้ 


ให้เลือกตัวเลือกทางซ้าย เข้าสู่เว็ปไซต์ KidBright ส่วนทางขวาเป็น KidbrightAI-น้องขนมชั้น เป็นฝั่งที่ใช้บอร์ดตัวอื่น ยังไม่ต้องสนใจจ้า พอกดเข้าไปจะเจอแถบเมนูด้านบนให้กด download

คราวนี้ก็เลือกเลยตามระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์เรา ของผู้เขียนเป็น Windows10 64 bit ก็เลยเลือกเวอร์ชั่นล่าสุด KidBright IDE (Version 1.6, 64 bits) ตัวเวอร์ชั่นใหม่จะดีกว่าตัวก่อนหน้าเพราะเสถียรกว่าและมีการเพิ่ม plugin มาเพียบเลยไม่ต้องไปโหลดมาเอง


พอได้ไฟล์เป็น zip file มาเรากดเข้าไปดูจะมี KidBright-insataller อยู่ ให้ติดตั้งโดยใช้ไฟล์ KidBright-installer.exe รอโปรแกรมทำงานแล้ว KidBrightIDE ก็จะเปิดขึ้นมาอัตโนมัติ ถ้า Windows Firewall ถามเราว่าจะอนุญาตให้โปรแกรมเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เราไหม ก็กดอนุญาตไป เท่านี้เราก็พร้อมจะเล่นแล้ว หน้าตา KidBright IDE ก็จะเป็นตามภาพ

ในเวอร์ชั่น 1.6 มีอะไรบ้าง หน้าตาก็จะประมาณวิดีโอด้านล่างนี้ 

    มาลองเขียนโค้ดตัวแรกกันเลย ทบทวนจากคราวที่แล้วนิดนึงก่อนจะเริ่มเราต้องมองว่าอะไรเป็นอินพุตอะไรเป็นเอาท์พุต บอร์ดทำหน้าที่สั่งการตามที่เราเขียนโปรแกรม อย่างง่าย ๆ เลยถ้ายังไม่ต้องสนใจว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นยังไงคือยังไม่สนใจเซ็นเซอร์หรือยังไม่ต้องการอินพุตใด ๆ แต่จะให้บอร์ด KidBright โชว์อะไรบางอย่างออกมาให้ดูเลย ให้ลองเลือกแค่เอาท์พุตมาตัวนึง ในที่นี้เลือกจอแสดงผล LED เป็นเอาท์พุตสำหรับการแสดงข้อความ

    โค้ดตัวแรกที่เราเขียนนี้ตั้งใจว่าจะสั่งให้จอแสดงผลแสดงข้อความตามที่เราต้องการ ในที่นี้ให้เขียนว่า KidBright for dummies โดยให้เลื่อนเมาส์ไปที่แถบทางซ้ายมือและคลิกที่ Basic ใช้เมาส์ลากคำสั่งออกที่ต้อง ใช้ (ดูตามภาพด้านล่าง) มาวางทางพื้นที่ขาว ๆ ด้านข้างแล้วค่อยเอาคำสั่งมาประกอบร่างกัน 


จากภาพชุดคำสั่งที่เราดึงออกมาจากเมนู Basic ถ้าเราไม่ได้แก้ไขอะไรแล้วเขียนโปรแกรมลงบอร์ดเลย ชุดคำสั่งในภาพนี้หมายความว่าเรากำลังจะสั่งให้บอร์ด KidBright ใช้จอแสดงผล LED แสดงตัวเลื่อนให้ครบข้อความก่อนหน้า (LED16x8 Scroll When Ready) ข้อความว่า "Hello World" แล้วหยุดรอ 0.5 วินาที (Delay 0.5) ก่อนจะเริ่มทำงานใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะมีคำสั่ง Forever ครอบคำสั่งทั้งหมดอยู่ ซึ่งบอร์ดจะทำงานตามชุดคำสั่งข้างในวนไปเรื่อย ๆ อยู่อย่างนั้นตลอดไปจนกว่าจะถอดสาย USB ออก (หยุดจ่ายไฟ) สำหรับคำสั่ง LED16x8 Scroll When Ready จริง ๆ จะใช้ LED16x8 Scroll แทนก็ได้ แต่ต้องปรับ Delay ให้พอดี

เมื่อต้องการแสดงข้อความใด ๆ เราสามารถแก้ไขข้อความในช่อง "Hello World" ให้เป็นข้อความที่ต้องการได้รวมถึงการแก้ไขค่าของเวลาในช่อง Delay โดยใช้เมาส์คลิกไปที่ช่องที่บรรจุข้อความ Hello World และตัวเลขหลัง Delay เลยตามลำดับ ในที่นี้จะแก้ข้อความเป็น "Kidbright for dummies" และใช้เวลา Delay 2 วินาที


แก้ไขเรียบร้อยก็เอาเมาส์คลิกบนพื้นที่สีขาวตรงไหนก็ได้ สุดท้ายหน้าตาโปรแกรมก็จะเหมือนภาพด้านล่างนี้


และแล้วโปรแกรมแรกของเราก็เสร็จสิ้น กดเซฟไฟล์ตั้งชื่อตามต้องการแล้วต่อไปเราจะเขียนชุดคำสั่งนี้ลงในบอร์ด เราเรียกว่าสร้างโปรแกรม (Build) หรือแฟลช (Flash)โปรแกรมลงไปบนบอร์ด KidBright ตอนนี้ให้เราเสียบสาย USB ต่อบอร์ดเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลย เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำการตรวจพบบอร์ดโดยอัตโนมัติและตั้งชื่อเป็น COM... ซึ่งสามารถตรวจสอบชื่อได้ใน Device manager ของเครื่องคอมพิวเตอร์เรา แต่ถ้ายังไม่อยากดูไม่เป็นไรลองแฟลชโปรแกรมลงเลยก็ได้ กดไปที่ลูกศรดังภาพ 



หลังจากกดแฟลชโปรแกรมแล้วให้สังเกตที่หน้าจอ Kidbright IDE จะแสดงขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เช็คโปรแกรม เช็คบอร์ด และเช็คการเขียนโปรแกรมลงบอร์ด โดยจะขึ้น OK ทุกขั้นตอน แล้วเราจะเห็นข้อความเราปรากฎบนจอ LED ลองดูวิดีโอด้านล่างแสดงขั้นตอนทั้งหมดและผลลัพธ์ที่ได้




เย้..เท่านี้เราก็ได้เขียนโปรแกรมตัวแรกแล้ว หากใครอยากเล่นต่อก็ลองเปลี่ยนข้อความหรือปรับเวลา Delay แล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้ดูนะจ๊ะ ยังไม่หมดนา...ครั้งหน้ามาลองดูว่าจอแสดงผลจะทำอะไรสนุก ๆ ได้อีก



#Kidbright #Kidbright คืออะไร #Kidbright ทำอะไรได้บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอนที่ 11 KidBright ต่อ Output ควบคุมพัดลมตามเวลาและอุณหภูมิผ่านรีเลย์

     เมื่อเรามีบอร์ดควบคุมอย่าง KidBright และมีรีเลย์พร้อมกับแหล่งจ่ายไฟภายนอกเราก็สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ขนาดใหญ่ขึ้นได้      บอกเสร...